สงกรานต์นี้ต้องกันน้ำขนาดไหนถึงจะเอาอยู่
มาทำความรู้จักกับมาตรฐานการกันน้ำและกันฝุ่นสำหรับหูฟังแนว Sport หรือหูฟังออกกำลังกายกันเถอะ แถมยังกันน้ำอีกด้วยเหมาะกับเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ด้วย และแน่นอนครับว่าต้องเอ่ยถึงเรื่องของ IP Code หรือที่ส่วนมากเรียกกันติดปากว่า IPX ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนคงทราบถึงความหมายกันบ้างแล้ว แต่สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่ทราบความหมาย หรือกำลังมองหาหูฟังออกกำลังที่ อึด ถึก ทน สำหรับกีฬาแต่ละประเภทมีจุดสังเกตอย่างไร วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันเลย
ในช่วงนี้กระแสหูฟังออกกำลังกายที่มีความสามารถกันน้ำได้กำลังมาแรง เพื่อนๆคงเคยได้ยินเวลาพนักงานร้านหูฟังที่คอยแนะนำเกี่ยวกับหูฟังออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น สวมใส่สบาย แบตฯอึด เสียงดี บลาๆๆๆๆ
แต่กีฬาที่เราเล่นแต่ละประเภทนั้น ก็ไม่เหมือนกัน บางคนชอบว่ายน้ำ บางคนวิ่งมาราธอน บางคนปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค คาดิโอ และอื่นๆอีกเพียบ แล้วจะรู้ได้ไงว่าแบบไหนที่เหมาะกับการใช้งานของเรา ????
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆหรือเป็นจุดสังเกตุเลยนั่นก็คือ IP Code หรือ ย่อมาจาก International Protection Marking หรือ Ingress Protection Marking เป็นมาตรฐานสากลที่ทาง IEC (International Electrotechnical Commission) ใช้กำหนดความสามารถในการป้องกันตัวของอุปกรณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำหรือของแข็งต่างๆ
และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้า IP Code นี้กันว่ามันมีลักษณะหรือระดับการป้องกันยังไง และสุดท้ายวิธีการอ่านค่า IP Code ซึ่งเริ่มแรกเราควรที่จะมารู้จักลักษณะของมันก่อนว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ลักษณะ IP Code และระดับการป้องกัน
IP Code มีลักษณะขึ้นต้นด้วย IP แล้วตามด้วยตัวเลข 2 หลัก (IP XX) ซึ่งตัวเลขหลักแรกหมายถึงค่าป้องกันอนุภาคของแข็งหรือฝุ่นเข้าไปในอุปกรณ์โดยส่วนมากเราจะเห็นกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นลำโพงแบบพกพาในหลายๆแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น ลำโพง Sony SRS-XB21 ที่มีค่ามาตรฐานการป้องกันระดับ IP67 นั่นหมายความว่าลำโพงตัวนี้สามารถป้องกันฝุ่นได้เต็มที่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนตัวเลขหลักที่สองหมายถึงค่าป้องกันของเหลว (ส่วนมากก็คือน้ำ) ที่จะแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ และโดยส่วนจะพบเห็นกับสินค้าพวกหูฟังเป็นส่วนใหญ่มักจะใช้เลขเดี่ยวอย่าง IPX5 หรือ IPX7 เช่น หูฟัง Bragi The Dash หรือ Sony NW-WS413 Profession เพราะหูฟังส่วนมากไม่ต้องระบุเรื่องกันฝุ่นเพราะมันไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แต่สำหรับสินค้าประเภทลำโพงมักจะโดนทดสอบการกันฝุ่นไปด้วยเลย
ค่าการป้องกันอนุภาคของแข็ง (Solid Particle Protection)
ค่าการป้องกันที่ว่านี้เป็นคนละตัวกับการป้องกันแรงกระแทกและรอยขีดข่วน โดยค่าการป้องกันนี้เป็นตัวบอกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถป้องกันอนุภาคของของแข็งเข้ามาในตัวเครื่องได้ในระดับไหน ซึ่งจะมีด้วยกันอยู่ 7 ระดับ (0-6) ดังนี้
IP0X ไม่สามารถป้องกันอะไรเลย
IP1X สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 50 มิลลิเมตร
IP2X สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 12 มิลลิเมตร
IP3X สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 มิลลิเมตร
IP4X สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร
IP5X สามารถป้องกันฝุ่นได้ระดับนึง สามารถมีฝุ่นเล็ดรอดเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย
IP6X สามารถป้องกันฝุ่นได้แบบ 100 %
ค่าการป้องกันของเหลวแทรกซึม (Liquid Ingress Protection)
ค่าป้องกันของเหลวในที่นี้หมายถึงค่าการป้องกันของเหลวจำพวกน้ำเท่านั้น ซึ่งค่าป้องกันที่ว่านี้จะมีด้วยกันอยู่ 12 ระดับ (0-9k) ดังนี้
IPX 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย
IPX 1 สามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ในแนวตั้ง กันน้ำฝนแบบที่ตกพรำๆ กันได้ประมาณ 10 นาที
IPX 2 สามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 15 องศาจากแนวตั้งได้ กันฝนที่ตกในระดับปกติ
IPX 3 สามารถป้องกันอุปกรณ์จากการฉีดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 60 องศาจากแนวตั้งได้โดยไม่ก่อเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์
IPX 4 สามารถป้องกันน้ำจากการสาด (Water splashing) ในทุกๆ ทิศทาง โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย
IPX 5 สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดน้ำขนาด 6.3 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ กันน้ำฉีดใส่ได้ทุกทิศทาง
IPX 6 สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย กันน้ำฉีดใส่ได้ทุกทิศทาง
IPX 6K เป็นมาตรฐานที่ต่อยอดจากระดับ 6 สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดแรงดันสูงขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย
IPX 7 ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกสูงสุด 1 เมตร ก็คือสามารถแช่น้ำได้ 30 นาทีที่ความลึก 1 เมตรนั่นเอง
IPX 8 ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกที่มากกว่า 1 เมตรภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นๆ จะกำหนด แต่ต้องมากกว่า 1 เมตร อย่างไรก็ตามอุปกรณ์นั้นๆ อาจจะมีน้ำแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ได้โดยที่ไม่ทำให้อุปกรณ์เสียหาย
IPX 9K ป้องกันน้ำจากการฉีดด้วยแรงดันและน้ำอุณหภูมิสูง คือป้องกันน้ำจากการฉีดน้ำแรงดันสูงในระยะใกล้ๆ ด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูง (ไม่ค่อยพบในสินค้าประเภทหูฟัง)
เป็นอย่างไรบ้างครับ หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยทำให้เพื่อนๆสามารถเลือกเลือกซื้อหูฟังคู่ใจ สำหรับใช้งานกับกีฬาที่เรารัก ฟังเพลงที่เราชอบโดยมั่นใจว่าจะไม่เกิดการเสียหายต่อหูฟังที่เราใช้ สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญก็คือการรับประกันสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตด้วยนะครับ เผื่อให้เป็นการมั่นใจเพื่อนๆควรเช็คเงื่อนไขในการรับประกันให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยนะครับ หรือเพื่อนสามารถซื้อสินค้ากับทาง IconicMusic ได้โดยมั่นใจได้เลยว่าสินค้าที่จัดจำหน่ายทุกชิ้นภายในร้าน มีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจัดจำหน่ายอย่างแน่นอน และทางร้านมีทีมงานคอยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า มั่นใจได้เลยว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งหลังการขายอย่างแน่นอนครับ
เรียบเรียงบทความ โดย พี่เก่ง Iconic
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia
ใส่ความเห็น